เมื่อโรคสมองเสื่อมเข้าสู่ระยะที่มีความรุนแรงมากขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการสับสน ลืมเหตุการณ์ต่างๆ รวมถึงมีการเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์และบุคลิกภาพอย่างมาก เป็นเหตุให้ผู้ป่วยมักไม่อยากพบปะผู้คน รวมถึงอาจกล่าวโทษตัวเองว่ามีความบกพร่อง จนสูญเสียความมั่นใจในตัวเองไปในที่สุด ดังนั้นการเสริมสร้างความมั่นใจให้กับผู้ป่วยจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ผู้ป่วยมีกำลังใจในการใช้ชีวิตและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้
สำหรับคนในครอบครัว การมองเห็นคนที่เรารักต้องเผชิญกับโรคสมองเสื่อมถือเป็นเรื่องที่น่าปวดใจอย่างยิ่ง หากคนที่คุณรักกำลังเผชิญกับโรคสมองเสื่อม เราได้รวบรวมวิธีปฏิบัติเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยรู้สึกด้อยค่าและมีความมั่นใจมากขึ้น
ผลงานวิจัยพบว่าการเล่าเรื่องราวในอดีต เช่น ประสบการณ์ชีวิต การทำงาน เพื่อนฝูง หรืองานอดิเรกที่ผู้ป่วยเคยชื่นชอบ จะช่วยกระตุ้นความทรงจำในอดีต ทำให้ในบางครั้งผู้ป่วยสามารถจดจำเหตุการณ์บางส่วนได้ และเมื่อผู้ป่วยจดจำเหตุการณ์ต่างๆ ได้ คนรอบข้างและผู้ดูแลควรชื่นชมและให้กำลังใจ เพื่อให้ผู้ป่วยเกิดความภาคภูมิใจและมีความมั่นใจมากขึ้น
การสื่อสารมีความสำคัญอย่างยิ่งในการเสริมสร้างความมั่นใจให้กับผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม ผู้ดูแลหรือผู้ที่มาเยี่ยมควรพูดให้ช้าลง ออกเสียงชัดเจน และหลีกเลี่ยงการถามคำถามที่ผู้ป่วยอาจจะตอบไม่ได้ เช่น คำถามที่ต้องใช้ความคิด หรือการให้เหตุผลยากๆ ทั้งนี้ผู้ดูแลและคนในครอบครัวไม่ควรแสดงออกถึงความหงุดหงิดหรือรำคาญใจ เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า หรือเป็นภาระของครอบครัว นอกจากนี้แม้ว่าผู้ป่วยจะไม่สามารถตอบคำถามที่ซับซ้อนได้ แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะได้ยินและเข้าใจบทสนทนาเป็นอย่างดี ดังนั้นผู้ดูแลจึงไม่ควรปล่อยให้ผู้ที่มาเยี่ยมพูดคุยกับผู้ป่วยเพียงลำพัง ควรอยู่ข้างๆ คอยให้ความช่วยเหลือ เมื่อผู้ป่วยไม่สามารถตอบคำถาม หรือจดจำเหตุการณ์ต่างๆ ได้ รวมถึงการห้ามปรามไม่ให้ผู้อื่นพูดวิจารณ์หรือล้อเลียนผู้ป่วย เพราะจะเป็นการทำลายความมั่นใจของผู้ป่วย
นอกจากนี้การพูดคุยกับผู้ป่วยเป็นประจำจะช่วยทบทวนความจำและสามารถชะลอการเสื่อมของโรคได้ ผู้พูดควรใช้คำสั้นๆ ที่ง่ายต่อการเข้าใจ หรือใช้การแสดงท่าทางเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจได้ง่ายขึ้น อีกทั้งควรเรียกชื่อและสบตากับผู้ป่วยระหว่างการสนทนา เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าได้รับความสนใจจากคู่สนทนา
ผู้ดูแลและครอบครัวควรส่งเสริมให้ผู้สูงอายุทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันตามขีดความสามารถของตนเอง การจัดการทำทุกอย่างให้โดยไม่ให้คนที่คุณรักลงมือทำอะไรด้วยตัวเองเลยจะยิ่งทำให้ความสามารถของผู้ป่วยลดลง อีกทั้งยังทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความมั่นใจ ผู้ดูแลควรจัดเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้ดียิ่งขึ้น เช่น การเตือนล่วงหน้าก่อนถึงเวลารับประทานอาหาร หรือการจัดเตรียมอาหารที่ผู้สูงอายุคุ้นเคย พร้อมบอกวิธีรับประทาน เพื่อให้เขาได้ลองรับประทานอาหารด้วยตนเอง หากผู้ป่วยไม่สามารถทำได้เองหรือใช้เวลานานเกินไป ผู้ดูแลจึงจะให้การช่วยเหลือ
นอกจากนี้ควรให้ผู้ป่วยทํากิจกรรมร่วมกับครอบครัว เช่น การรับประทานอาหารร่วมกัน หรือการพาออกไปเที่ยวนอกบ้าน จะเป็นการช่วยปรับอารมณ์ของคนที่คุณรักไม่ให้รู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง อย่างไรก็ตามควรเลี่ยงการกระตุ้นเขาจนเกินไป เพราะจะทำให้เขาเบื่อหน่ายและเกิดการต่อต้านได้
ผู้สูงอายุโรคสมองเสื่อมจะมีปัญหาด้านการนึกคิด ความทรงจำ และการใช้เหตุผล ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออารมณ์ของผู้ป่วย รวมถึงก่อให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ผู้ดูแลจึงไม่ควรโต้เถียง ตำหนิ หรือพยายามอธิบายด้วยเหตุผล เนื่องจากการกระทำเหล่านี้มีแต่จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกหงุดหงิด และสูญเสียความมั่นใจ และจะทำให้การดูแลเป็นไปอย่างยากลำบาก ทั้งนี้ผู้ดูแลควรรับฟังและทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อม รวมถึงคอยสังเกตพฤติกรรมของเขาว่าชอบ หรือไม่ชอบอะไร
©2019 – 2024 BAAN LALISA SERVICE GROUP CO., LTD. All Rights Reserved.